วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555



การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ โอบามา vs รอมนี่


อีกหนึ่งสมัย เพราะ Intrade ให้โอบามามีโอกาสชนะ 63% แม้ว่าในระยะหลังการอภิปรายโต้กันระหว่างประธานาธิบดีโอบามากับผู้ท้าชิงคือนายรอมนี่ย์นั้นโพลล์ต่างๆ จะสรุปเหมือนกันว่านายรอมนี่ย์ชนะการอภิปรายในครั้งแรกส่วนของการอภิปรายของรองประธานาธิบดีไบเดนกับผู้ท้าชิงคือนายไรอันนั้นจะปะทะคารมกันอย่างได้อารมณ์ แต่ก็ดูเสมือนว่าจะไม่มีฝ่ายใดชนะฝ่ายใดพ่ายแพ้อย่างชัดเจน
แม้ว่าในการทำสำรวจความเห็นของผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งล่าสุดในต้นเดือนตุลาคมพบว่าในบางกรณีนายรอมนี่ย์จะได้คะแนนนำประธานาธิบดีโอบามาก็ตาม แต่ดังที่ทราบกันดีว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐนั้นมิได้นับเสียงข้างมากของประชาชนโดยรวม แต่จะต้องนับรวม electoral vote ในแต่ละมลรัฐ ซึ่งเป็นคะแนนเสียงที่ผู้แข่งขันที่ชนะเสียงข้างมากในมลรัฐนั้นๆ จะได้รับคะแนน electoral vote ทั้งหมดของมลรัฐดังกล่าว ดังนั้นการแข่งขันเพื่อชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีจึงกำลังเป็นการหาเสียงอย่างเข้มข้นในมลรัฐขนาดใหญ่ที่เสียงสนับสนุนยังก้ำกึ่งใน 9 มลรัฐได้แก่ Colorado (9), Florida (29), Iowa (6), Nevada (6), New Hampshire (4), North Carolina (15), Ohio (18), Virginia (13), และ Wisconsin (10) (ตัวเลขในวงเล็บคือ Electoral vote ของมลรัฐ) ซึ่งดูเสมือนว่า Ohio, Florida และ Colorado จะมีความสำคัญเป็นพิเศษ สำหรับการมองการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในมุมมองของตัวเลขนั้น สรุปได้ดังนี้
1. มลรัฐต่างๆ จะมีคะแนน electoral vote แตกต่างกันไปตามขนาดของประชากรของมลรัฐ โดยมี electoral vote ทั้งสิ้น 538 คะแนน ดังนั้นผู้ที่จะได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีจะต้องได้ electoral vote 270 คะแนน
2. ตามโพลล์ปัจจุบัน ประธานาธิบดีมีคะแนนเสียงนำในมลรัฐต่างๆ ทำให้ประมาณการได้ว่าจะชนะ electoral vote 237 คะแนน ขาดอยู่ 33 คะแนน ในขณะที่นายรอมนี่ย์มีคะแนนนำในมลรัฐต่างๆ ซึ่งประเมินได้ว่าจะชนะ electoral vote 191 คะแนน ดังนั้นจึงจะต้องช่วงชิง electoral vote 9 มลรัฐที่ก้ำกึ่งซึ่งมี electoral vote รวม 110 คะแนน
3. ในกรณีที่ผู้แข่งรับเลือกตั้งประธานาธิบดีได้คะแนน electoral vote เท่ากันคือ 269 คะแนน รัฐธรรมนูญสหรัฐให้สภาผู้แทนราษฎรลงคะแนนเลือกประธานาธิบดี แต่แทนที่จะใช้คะแนนเสียงของผู้แทนทั้งหมด 435 คน โดยให้ลงคะแนนเสียงคนละ 1 คะแนน ให้แต่ละมลรัฐลงคะแนนเสียงได้เพียง 1 คะแนน (ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันรีพับลิกันน่าจะมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทน)
อีกมิติหนึ่งของการเลือกตั้งของสหรัฐคือการหาเสียงกับกลุ่มต่างๆ ซึ่งสรุปได้ว่าประธานาธิบดีโอบามาดูจะได้เปรียบและมีคะแนนนำเพราะชาวอเมริกันเชื้อสายคนดำและคนเชื้อสายสเปน (Hispanic) จะมีจำนวนมากกว่า ตลอดจนการที่คนหนุ่มสาวจะนิยมประธานาธิบดีโอบามาและพรรคเดโมแครตมากกว่าพรรครีพับลิกัน ซึ่งมีฐานเสียงหลักคือคนผิวขาว คนสูงอายุและคนที่เคร่งศาสนา ซึ่งดูได้จากผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2008
๐ คนผิวดำ 95% เลือกโอบามา ส่วนคนเชื้อสายละติน 66% เลือกโอบามาเช่นกัน
๐ คนผิวขาวเลือกนายแมคเคน (ผู้ท้าชิงของพรรครีพับลิกัน) 55% และอีก 53% เลือกโอบามา
๐ การเลือกตั้งในปี 2012 จะมีคนเชื้อสายสเปนมีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งมากถึง 23.7 ล้านคนเพิ่มขึ้น 22% จากจำนวน 19.5 ล้านคนในการเลือกตั้งปี 2008
๐ แต่คนเชื้อสายสเปนนั้นไม่ค่อยจะไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ในปี 2008 มีเพียง 50% ไปเลือกตั้งเมื่อเทียบกับ 65% สำหรับคนผิวดำและ 66% สำหรับคนผิวขาว
๐ นอกจากนั้นจำนวนคนเชื้อสายสเปนก็ยังไม่ค่อยไปลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิ์เลือกตั้ง โดยพบว่าคนเชื่อสายสเปนไปลงทะเบียนเพื่อเลือกตั้งลดลงถึง 600,000 คนในช่วง 2008-2010 สาเหตุเพราะเกิดความเบื่อหน่ายการเมืองและเศรษฐกิจมีแนวโน้มย่ำแย่ (ต้องไปทำมาหากิน)
๐ คนเชื้อสายสเปนที่อาศัยอยู่ในมลรัฐ 9 มลรัฐที่คะแนนยังก้ำกึ่งนั้นมีสัดส่วนประมาณ 17% ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด ทั้งนี้กว่า 32% เป็นคนหนุ่มสาวอายุ 18-29 ปี (คนผิวขาวนั้นผู้ที่อายุ 18-29 มีสัดส่วนเพียง 19%) ซึ่งคนหนุ่มสาวมักจะไปเลือกตั้งในสัดส่วนที่ต่ำกว่าคนอายุมาก
๐ โพลล์ ของ Gallup สรุปว่าคนเชื่อสายสเปน 64% สนับสนุนโอบามา และมีเพียง 27% สนับสนุนรอมนี่ย์ ส่วนโพลของ WSJ/NBC สรุปว่า 57% ของคนอายุ 18-34 สนับสนุนโอบามา เทียบกับ 35% สำหรับรอมนี่ย์
หากดูจากสถิติข้างต้นก็จะเห็นว่า กลยุทธ์ในระดับรากหญ้าของโอบามาก็น่าจะเป็นการรณรงค์ให้คนเชื้อสายสเปนและคนหนุ่มสาวออกไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในวันที่ 6 พ.ย. สำหรับนายรอมนี่ย์นั้นนาย Gerald Seib นักเขียนด้านเศรษฐศาสตร์ของ WSJ (9 ต.ค. 2012) ประเมินว่าเขาจะต้องรณรงค์ให้ผู้ที่เคร่งศาสนา (ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 25% ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด) ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เพราะ 75% ของคนกลุ่มนี้สนับสนุนนายรอมนี่ย์ แม้เขาจะนับถือศาสนามอร์มอน ซึ่งไม่ใช่ศาสนาหลักในสหรัฐ โดยหวังว่าคนหนุ่มสาว (ซึ่งมีสัดส่วน 18% ของผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งทั้งหมด) ส่วนใหญ่จะมาลงคะแนนน้อยลงตามผลโพลที่พบว่าคนกลุ่มนี้ให้ความสนใจข่าว-สารทางการเมืองลดลงถึงครึ่งหนึ่งของปี 2008
ทั้งนี้ผู้นำกลุ่มผู้เคร่งศาสนาคนหนึ่งคือนาย Ralph Reed ประเมินว่าหากมีการขับเคลื่อนหัวคะแนนของคนกลุ่มนี้ อาจมีคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นให้กับนายรอมนี่ย์อีกถึง 17 ล้านเสียง โดยมีกลุ่มคนที่เคร่งศาสนาจำนวนมากในมลรัฐที่คะแนนเสียงก้ำกึ่ง เช่น Virginia, Ohio, Iowa และ Florida ทำให้นายรอมนี่ย์น่าจะแบ่งเงิน 12 ล้านดอลลาร์ไปใช้ในการรณรงค์ให้คนกลุ่มนี้ออกมาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในวันที่ 6 พ.ย. โดยหัวคะแนนจะติดต่อทั้งทางโทรศัพท์และไปเคาะประตูบ้านเยี่ยมเยียน โดยเน้นนโยบายต่อต้านการทำแท้ง การแต่งงานกันระหว่างเพศเดียวกัน และปกป้องสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา เป็นต้น
สรุปก็คือผมสงสัยว่าประธานาธิบดีโอบามาไม่น่าจะมีโอกาสชนะเลือกตั้งมากถึง 63% ตามที่ Intrade ประเมินและดูเสมือนว่าการจะแพ้หรือชนะจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับการนำเสนอนโยบายในเรื่องใหญ่ๆ เช่น การแก้ปัญหาหนี้สาธารณะ การพลิกฟื้นเศรษฐกิจหรือนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงมากอย่างที่เรามองกันอย่างคนภายนอก แต่อาจจะขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการจัดการและการจัดตั้งของหัวคะแนนของพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันที่จะระดมผู้สนับสนุนของตนให้มาใช้เสียงเลือกตั้งให้มากที่สุดในมลรัฐที่มีเสียงก้ำกึ่งครับ